Government Information

การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำบทความสรุปประเด็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และประเด็น ข้อหารือ เพื่อเป็นความรู้และประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

โดยบทความนี้ เป็นการขอหารือ กรณีมีหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานรัฐ ขอข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานรัฐที่ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อนำไปประกอบการวางแผนการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงาน กรณีนี้จะขัดกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในส่วนของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ อย่างไร

หน่วยงาน A ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อมูลของผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ได้ขอหารือ 2 กรณี ดังนี้

1. หน่วยงาน B ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ได้มีหนังสือขอให้หน่วยงาน A จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ นามสกุล วัน เดือนปีเกิดของลูกจ้างหน่วยงานรัฐเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์เชิญชวนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

2. หน่วยงาน C ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นในการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุไทย และนำไปวางแผนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

โดยหน่วยงาน A หารือว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับหน่วยงาน B และ หน่วยงาน C ได้หรือไม่ อย่างไร

คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ พิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้

กรณีตามข้อ 1 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับหน่วยงาน B ซึ่งเป็นนิติบุคคลเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 นั้น อาจไม่สมควร เนื่องจาก หน่วยงาน B สามารถประชาสัมพันธ์เชิญชวนลูกจ้างของรัฐ โดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ที่สนใจผ่านหน่วยงานของรัฐในสังกัด ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องนำข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลจากหน่วยงาน A ที่ครอบครอง ไปเพื่อประชาสัมพันธ์โดยตรงกับลูกจ้างหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด

กรณีตามข้อ 2 หน่วยงาน C ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ขอข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลตั้งต้น ในการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุไทย และนำไปวางแผนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ อันเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน C หน่วยงาน A จึงสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหน่วยงาน C เพื่อประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลโดยตรง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงไม่เป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร

อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีที่หน่วยงาน A จะจัดส่ง ข้อมูลหรืออนุญาตให้หน่วยงาน C เชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่ในระบบควรทำข้อตกลงว่า หากหน่วยงาน C ได้ข้อมูล ไปแล้วจะจัดเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และมีหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บ ขอบเขตและข้อจำกัดในการเข้าถึง รวมทั้งรูปแบบของรายงานการใช้ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

 นางสาววัชรา อ่อนละมุน
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

บทความต้นฉบับ คลิก

มีข้อสงสัยการปฏิบัติและใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โทร 02 283 4677 หรือที่เว็บไซต์ www.oic.go.th ตอบข้อหารือในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ที่ นร 0108/5743 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2561)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *