Government Information

หนังสือร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ เปิดเผยได้หรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำบทความสรุปประเด็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และประเด็น ข้อหารือ เพื่อเป็นความรู้และประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

โดยบทความนี้ เป็นการขอหารือ กรณีมีประชาชนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปิดเผยหนังสือร้องเรียนให้กับผู้ถูกร้องเรียน

หน่วยงาน ก. ได้ขอหารือกรณี นาง อ. แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของหน่วยงาน ก. ให้ดำเนินคดีกับนาย ต. ปลัดเทศบาลแห่งหนึ่ง โดยกล่าวหาว่านาย ต. นำเอกสารการร้องเรียนให้แก่นาง พ. นำไปฟ้องนาง อ. ทำให้ได้รับความเสียหาย หน่วยงาน ก. จึงขอหารือ ดังนี้

1. สำเนาหนังสือร้องเรียนของราษฎรที่ร้องเรียนนาง พ. อดีตนายกเทศมนตรีแห่งหนึ่ง เป็นเอกสารที่ห้ามเปิดเผยตามมาตรา 15 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หรือไม่ อย่างไร

2. หากเอกสารตามข้อ 1. เป็นเอกสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย แต่นาย ต. อนุญาตให้นาง พ. ซึ่งถูกราษฎรร้องเรียนคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวไป นาย ต. จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ของราชการ พ.ศ. 2540 หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ อย่างไร

คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการพิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้

1. ข้อมูลข่าวสารตามข้อหารือนั้นเข้าข่ายเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่บทบัญญัติมาตรา 15 ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐพิจารณาว่า ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นหรือไม่ โดยพิจารณากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 แจ้งเวียนตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว 218 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 มีหลักการให้ผู้บังคับบัญชา ใช้ดุลพินิจสั่งการที่สมควรเพื่อคุ้มครองผู้ร้อง พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน อย่าให้ต้องรับภัย หรือความไม่ชอบธรรม ซึ่งเนื่องมาจากการร้องเรียน การเป็นพยาน หรือการให้ข้อมูลนั้น ดังนั้น การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคำขอข้อมูลข่าวสารนั้น ต้องพิจารณามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวประกอบด้วย

2. ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นั้น แม้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตแล้ว จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 20 ซึ่งมีหลักการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริต และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย กำหนด แต่การใช้ดุลพินิจนั้นต้องคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์ สาธารณะและประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน รวมทั้งต้องพิจารณากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

นายเฉลิมพล เลียบทวี
ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

บทความต้นฉบับ คลิก

มีข้อสงสัยการปฏิบัติและใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โทร 02 283 4677 หรือที่เว็บไซต์ www.oic.go.th ตอบข้อหารือในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ที่ นร 0108/5743 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2561)